พอดีเล่นอินเตอร์เนตหาข้อมูลในการพัฒนาการศึกษา และข้อมูลในการทำงานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมเด็กและเยาวชน พอดีไปเจอเว็บไซต์ thaimisc.pukpik.com/freewebboard/php/vreply.php?user...topic=194
ของอภิธรรมมูลนิธิ ที่ได้เขียนบทความเตือนสติผู้คนในสังคมเกี่ยวกับวิถีชีวิตการทำงานและการประกอบธุรกิจ ซึ่งทางสถาบันกวดวิชาได้พยายามใช้เป็นแนวคิดในการขับเคลื่อนองค์กรอยู่เสมอ อย่างเช่นการตั้งเป้าจำนวนนักเรียนที่จะสอบติดนักเรียนเตรียมทหารนั้นทางโรงเรียนกวดวิชาธนวรรณจึงได้ตีกรอบไว้ไม่ให้เกินร้อยละ 50 เพราะถ้าตั้งเกินไปจะทำให้สภาพการทำงานในองค์กรจะตึงเครียดมากเกินไปรวมทั้งอาจจะพบกับปัจจัยแวดล้อมที่สอดคล้องกับบทความที่มีสาระสำคัญดังนี้…
พระพุทธองค์ทรงสอนสัตวโลกไว้ว่า สัพเพสังขาราอนิจจา สัพเพสังขาราทุกขา สัพเพธัมมาอนัตตาติ ฯ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับทุกชีวิตนั้นเป็นเรื่องธรรมดาของธรรม มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย มีรัก มีชอบ มีสุข มีทุกข์ สลับคลุกเคล้าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน การดำเนินชีวิตไปบนทางแห่งความดีจึงต้องมีความเข้าใจธรรมะและมีความหนักแน่นมั่นคงซื่อตรงต่อปณิธานเป้าหมาย ในการประกอบอาชีพหรือทำงาน ต่างๆ มักจะได้ยินกันเสมอว่า มีการขัดแข้งขัดขา มีการสกัดดาวรุ่ง มีการทรยศหักหลัง มีการกำจัดหอกข้างแคร่ มีการลอบทำร้ายกันลับหลัง มีความเปลี่ยนแปลงจากมิตรเป็นศัตรู เหล่านี้ล้วนเป็นสถานการณ์ธรรมดาของวิสัยปุถุชน ที่มีรักมีชังสุมแน่นอยู่ในใจ วันนี้ดี พรุ่งนี้ด่า วันต่อไปนินทา วันที่หายหน้าก็คิดถึงกัน
จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครฝืนได้ หากไม่หัดฝืนกิเลสที่อยู่ภายในตนเสียก่อน บางคนที่มากด้วยความยึดถือในตัวตนหรือมีอัตตามีความลำพองมาก มักจะแสดงกิริยาอาการดูถูกคนอื่น อวดตนว่าอยู่เหนือผู้อื่นเสมอ และหากเกิดความขัดแย้งกับใครก็มักจะสร้างพลังอคติรวบรวมสมัครพรรคพวกเข้าฝ่ายตนให้มาก เพื่อที่จะตั้งฝักฝ่ายปะทะต่อต้านกันต่อไป ได้ฟังมาว่า มีอาจารย์ท่านหนึ่งทำงานหนักทำผลงานวิชาการมากขึ้น และมีการพัฒนาตัวเองให้มีองค์ความรู้ใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะนำไปใช้พัฒนาและสร้างนักศึกษา จึงกลายเป็นคนที่เด่นมากขึ้นในมหาวิทยาลัย ซึ่งแน่นอนว่าในสังคมปัจจุบันซึ่งมีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันสูงนี้ย่อมไม่มีใครอยากเห็นใครได้ดี เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยให้การสนับสนุนก็เปลี่ยนท่าทีไปในทางไม่ยอมรับและพยายามสร้างข้อตำหนิให้เกิดขึ้น ทั้งเพื่อนฝูงก็กลายมาเป็นคู่แข่งขัน การกลั่นแกล้ง หลายรู้แบบก็เริ่มตามมา บางครั้งรุนแรงจนแทบทำให้เสียสุขภาพจิต และความมั่นใจในตัวเอง และบางครั้งถึงขนาดคิดว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป จนเมื่อเข้ามาพึ่งทางธรรมเธอคนนั้นจึงสามารถสงบใจลงได้ ในลักษณะนี้ทำให้ย้อนนึกถึงคำประพันธ์ของหลวงวิจิตรวาทการว่า
" อันที่จริงคนเขาอยากให้เราดี
แต่ถ้าเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้
จงทำดีแต่อย่าเด่น จะเป็นภัย
ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน "
การทำความดีนั้นย่อมได้ผลดีแน่ และทำความชั่วก็ย่อมได้ผลชั่ว อันเป็นกฎธรรมดาของความจริงที่ปลูกพืชอย่างไรก็ย่อมได้รับผลอย่างนั้น แต่การทำความดีนั้นต้องใช้ศิลปะคือต้องทำความดีนั้นจะต้องทำให้ถูกกาละเทศะให้ถูกจังหวะ และพอเหมาะพอสมไม่เกียจคร้าน และไม่ล้ำเส้นใคร การทำความดีนั้นจะต้องดูความเกี่ยวข้องกับบุคคลด้วย ต้องรู้จักวางตัวให้ดีอย่าให้มีลักษณะอันใดส่อให้เห็นว่า จะทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่กระทบกระเทือนหรือขุ่นเคืองใจ โดยเฉพาะอย่าให้ผู้หลักผู้ใหญ่รู้สึกว่ามีความสามารถด้อยกว่า เพราะในสังคมคนธรรมดานั้นมากไปด้วยความริษยาและหวาดระแวงกัน รวมทั้งมีคนบางพวกพร้อมที่จะจับผิดและทำลายอยู่ตลอดเวลา อย่างเรื่องในพุทธกาลก็มีอยู่ว่า พันธุละเสนาบดีแห่งแคว้นโกศลได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องการวินิจฉัยคดีที่ไม่ซื่อตรง จึงไปนำเรื่องมาวินิจฉัยใหม่แล้วตัดสินไปตามความจริง ซึ่งมหาชนก็เปล่งเสียงไชโยโห่ร้องกันอย่างสนั่นหวั่นไหว จนพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ยินและเกิดความสงสัย และเมื่อพระราชารู้เรื่องราวต่างๆ แล้วก็ให้ปลดตุลาการเดิมออกแล้วให้พันธุละเสนาบดีไปทำหน้าที่แทน ต่อมาพวกตุลาการรุนเก่าๆ ขาดรายได้จากการวิ่งเต้นคดี จึงพากันไปยุยงพระราชาว่า "พันธุละเสนาบดีต้องการเป็นพระราชา"
ด้วยความด้อยสติปัญญาพระราชาได้เชื่อคำของอำมาตย์เหล่านั้น และยิ่งเพิ่มความหวาดระแวงในตัวพันธุละเสนาบดีว่าจะมาชิงราชบัลลังก์และเป็นที่รักของประชาชนมากกว่าตน จึงได้ออกอุบายให้พันธุละเสนาบดีไปปราบโจรที่ชายแดน แล้วให้ราชบุรุษตัดศีรษะของพันธุละเสนาบดีพร้อมบุตรชายทั้งหมดก่อนที่จะเดินทางกลับมาพระนคร และเมื่อการต่างๆ ได้สำเร็จลงแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงได้รู้สึกตัวในภายหลังว่า ได้ตกหลุมพรางของอำมาตย์จนสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ฉะนั้น การทำความดีจึงต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญในการที่จะรักษาไว้ไม่ให้กระทบกระเทือนต่อผู้ใด จนไปกระตุ้นกิเลสของคนรอบข้างขึ้นมา การทำความดีจึงต้องมีศิลปะในการทำความดีและรักษาความดีไว้ให้เจริญยิ่งขึ้น ต้องรู้จักถอยออกมาจากภาวะที่คับขันเพื่อผ่อนคลายสถานการณ์ และรอเวลาที่เหมาะสมเพื่อสร้างรอยต่อของความดีขึ้นมาใหม่อย่างไม่กระทบกระเทือนใคร